มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2560 ได้กำหนดให้กระทรวงคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ปัจจุบัน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษที่เป็นอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อกำกับการดำเนินโครงการให้มีประสิทธิภาพ โดยให้มีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสม สำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในอนาคต
ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2560รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร – หนองคาย มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธานอนุกรรมการ ผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการฯ รวม 3 คณะ โดยคณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเห็นว่า การจัดตั้งองค์กร “พิเศษ” สำหรับการให้บริการรถไฟความเร็วสูงตามเงื่อนไขของคณะรัฐมนตรี เป็นเรื่องที่มีความซับซ้อนและมีทางเลือกที่หลากหลาย ที่สมควรจะต้องพิจารณารายละเอียดอย่างรอบคอบตั้งแต่ขั้นตอนแรก และควรมีข้อเสนอแนะจากผู้ที่เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การลงทุน และการจัดตั้งองค์กร รูปแบบองค์กรที่จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวได้ โดยจะต้องมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ ซึ่งควรจะต้องให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะมาให้คำแนะนำ เนื่องจากรูปแบบการจัดตั้งองค์กรและการระดมทุนมีความหลากหลายมาก
คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2561 ให้มีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำรายละเอียดการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูง และการจัดตั้งองค์กรที่อยู่ภายใต้การ กำกับขององค์กรพิเศษดังกล่าว เพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงให้ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์การจัดตั้ง ร่วมทุน และกำกับดูแลบริษัทในเครือของรัฐวิสาหกิจ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และการรถไฟแห่งประเทศไทย ดำเนินการต่อไป
เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน กระทรวงคมนาคมจึงดำเนินการจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด (บริษัทนำ) และ บริษัท ดาวฤกษ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด เพื่อศึกษาแนวทางการจัดตั้งองค์กรพิเศษเพื่อกำกับการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง ตามสัญญาเลขที่ สปค.70/2564 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยมีระยะเวลาในการดำเนินงานตามสัญญาทั้งสิ้น 360 วัน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 กันยายน